บางตอนจาก บทละครเรื่องเงาะป่า ของ เงาะป่า (วรรณคดี)

กระทรวงศึกษาธิการเคยคัดมาไว้ในแบบเรียนภาษาไทยให้นักเรียนได้เรียนด้วย ดังนี้

 
โอ๊ะเฮเฮเห่เฮเฮเห่เฮเฮเฮ้เห่
ช้าหน่อยแม่นางก็อยเอยอย่าทำใจน้อยหน้าตาบูดบึ้ง
ยิ้มเสียให้แฉ่งอย่าแสร้งมึนตึงช้าหน่อยแม่นางก็อยเอย ฯ
 
ช้านิดแม่ชื่นจิตรเอยอย่าใส่จริตกระดุ้งกระดิ้ง
ดอกไม้หอมกรุ่นฉุนฤๅจะทิ้งช้านิดแม่ชื่นจิตรเอย ฯ
ช้าอืดแม่นางอืดเอยตามกันเปนยืดยักไหล่ฟ้อนรำ
อย่าให้ช้านักจักเสียลำนำช้าอืดแม่นางอืดเอย ฯ
ช้าไว้แม่ชื่นใจเอยรวังอกไหล่อย่าให้ปะทะ
จะเกิดรำคาญขี้คร้านเอะอะช้าไว้แม่ชื่นใจเอย
อย่าแค้นแม่แสนงอนเอยเวียนแต่ควักค้อนผูกคิ้วนิ่วหน้า
ผัดอีกหน่อยหนึ่งให้ถึงเวลาอย่าแค้นแม่สอนงอนเอย
ชะต้าแม่ตาคมเอยอย่าทำเก้อก้มเมียงเมินเขินขวย
เหลือบมาสักนิดขอพิศตาสวยชะต้าแม่ตาคมเอย
หน่อยแน่แม่กินรเอยรำร่ายฟายฟ้อนให้ต้องจังหวะ
อย่าทำตัวเตี้ยเห็นจะเสียระยะหนอยแน่แม่กินรเอย
ถึงแล้วแม่แก้วตาเอย 

นอกจากนี้เหม เวชกร ยังได้นำพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่ามาเขียนเป็นนิทานภาพ ความยาว 140 ภาพ เอาไว้ และในชั้นหลัง ยังมีภาพยนตร์ไทยเรื่อง "เงาะป่า" ที่เขียนบทขึ้นตามพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ด้วย

บทละครเรื่องนี้ นอกจากจะใช้เป็นบทสำหรับเล่นละครได้ดีแล้วยังมีคุณค่าทางวรรณคดีและวัฒนธรรมของพวกเงาะ ในทางวรรณคดีประกอบด้วย บทชมธรรมชาติ บทรัก บทแค้น บทโศก บทขบขัน และคติธรรม การใช้ถ้อยคำสำนวนง่ายๆ สละสลวย มีรสสัมผัส เป็นภาพพจน์และมีอุปมาอุปไมยแยบคายมากมาย ในทางวัฒนธรรมนับเป็นวรรณคดีเรื่องแรกของไทย ที่กล่าวถึงวัฒนธรรมของพวกเงาะ เช่น ภาษา การแต่งกาย ความเป็นอยู่ ประเพณี ความเชื่อ การทำมาหากิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้แง่คิดในเรื่องต่างๆ เช่น ความไม่แน่นอนของสิ่งธรรมดาในโลก ความรักพิสูจน์ได้ด้วยการเสียสละ อาฆาตพยาบาทเป็นสิ่งไม่ควรประพฤติ เป็นต้น